สถานที่สำคัญของ วัดศรีอุโมงค์คำ
(1) เดิมนั้นมี “สันคือ” ที่คันดินซึ่งเคยเป็นกำแพงเมืองต่อเนื่องมาจากหนองระบู “คือหวาก” เป็นส่วนคันดินกำแพงเมืองที่ทลายลงเป็นช่อง ทำให้น้ำกว๊านบางส่วนเข้ามาอยู่ในหนองบริเวณที่ปัจจุบันเป็นสนามฟุตบอลหลังสำนักงานเทศบาลเมืองพะเยา บริเวณมุมถนนใกล้สนามฟุตบอลหลังสำนักงานเทศบาลเมืองพะเยา เดิมเรียกว่า “ประตูเวียง” ต่อมามีการรื้อเอากำแพงเมืองไปทำประตูน้ำ ในบริเวณข้างสนามฟุตบอลหลังสำนักงานเทศบาลเมืองพะเยาสมัยต่อมามีต้นฉำฉา เมื่อออกฝักชาวบ้านจะนำไปให้วัวกิน และใช้ต้นฉำฉาในการเลี้ยงครั่ง(2) พระธาตุเก๊าแดง เนื่องจากมีดอกแดงขึ้นที่นั่น(3) น้ำดื่มน้ำกินจะต้องหาบมาจากบ้านบุญยืน ส่วนน้ำใช้จะใช้น้ำจากกว๊านพะเยา(4) เมื่อ พ.ศ.2498 ต้องนั่งรถบรรทุกข้าวเพื่อไปต่อรถไฟในการเดินทางลงไปกรุงเทพฯ(5) เรื่องราวของบุคคลในชุมชน - นายเตี๊ยะ แซ่อึ้ง เสมียนโรงเหล้าของหลวงศรีนครานุกูล - นายชุม งานดี เป็นผู้ปลูกต้นฉำฉา (จามจุรี) - นายแก้ว อัจฉริยะกุลแต่งและร้องเพลงลอยกระทง - พล.ต.ต.พิมล สินธุนาวา แต่งเพลงพะเยารอเธอ - นายจรูญเป็นลูกของหลวงไกรชิงฤทธิ์ (นามสกุล อนันตพงศ์) ซึ่งหลวงไกรฯ เป็นเพื่อนของจอมพลป.พิบูลสงคราม - หลวงจำนงระวิง - พ่อเลี้ยงแก้วพ่อของครูกุ่น สุขจริง เป็นหมอเป่า หากจะขอให้ท่านช่วยรักษาต้องทำสวย (กรวย) ใส่ดอกไม้และเทียน 1 คู่ ไปบอกท่าน - ลุงเชื้อ ผลทอง เป็นชาวมอญจากปทุมธานี มาทำอิฐ โดยเอาดินใส่เรือมาจากบริเวณข้างประมง แล้วนำมาซอกเปลือกคือนำมาคลุกผสมแกลบ (เปลือกเมล็ดข้าว) ใช้วิธีการเหยียบไปมาให้ดินเหนียวกับแกลบนั้นเข้ากันทั่วถึง(6) ในอดีตในชุมชนจะทำสะเปาจากต้นปอที่ออกอยู่ตามสวน ขนาดลำยาวประมาณ 1 ฟุต ใส่กล้วยตัดเป็นคำ ๆ ขนม สตางค์ และใส่ผางประทีป จุดให้สว่างไสว พร้อมกับตัดเล็บใส่ลงไปด้วย นำไปลอยในแม่น้ำอิง กว๊านพะเยาในวันประเพณียี่เป็ง เชื่อว่าการลอยสะเปาจะเป็นการลอยเคราะห์ ปล่อยเคราะห์ เพื่อจะได้พ้นจากเคราะห์(7) ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า (ผีประจำตระกูล) เช่น ตระกูลของอาจารย์สุเทพ วรมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนพินิตประสาธน์ เรียกว่าหอเจ้าหลวงศิริราช (เจ้าตนหลวง)จะมีการเลี้ยงดักคือจัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นที่หอผี (ศาล) เป็นประจำทุกปี แต่หากมีการแก้บนหรือลูกหลานในตระกูลพร้อมที่จะเลี้ยงโดยจัดพิธีใหญ่ ก็จะมีการตั้งผาม (ปะรำ) บริเวณหน้าหอผี แล้วว่าจ้างวงดนตรีปี่พาทย์พื้นเมืองมาบรรเลง โดยเชิญผีปู่ย่าในหอประจำตระกูลทุกตน และผีปู่ย่าจากหอผีตระกูลอื่น ๆ ที่เป็นเครือญาติหรือรู้จักกัน หรือผีเจ้านายจากที่อื่นมาร่วมลงย่ำม้าขี่หรือที่นั่ง (ประทับทรงร่างทรง) เพื่อร่วมประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอน และร่วมฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน หรือบางตระกูลเรียกว่าผีมด เช่น ผีมดหอเจ้าด้าม การเลี้ยงผีปู่ย่านี้จะมีประเพณีเลี้ยงตามกำหนดวันเวลาที่แต่ละตระกูลปฏิบัติสืบทอดกันมา หากฤกษ์ติดขัดก็จะหาวันที่เหมาะสมต่อไป เช่น หอเจ้าหลวงศิริราช (เจ้าตนหลวง) จะเลี้ยงในช่วงเดือน 9 ของทางภาคเหนือ ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน(8) มีช่างฟ้อนเล็บประจำชุมชน โดยสมาชิกเป็นสตรีแม่บ้านของชุมชน สืบทอดต่อกันในชุมชน ซึ่งจะมาฝึกฟ้อนรำกันที่วัด โดยมีวงดนตรีพื้นเมือง เรียกว่า “วงกลองแอวฟ้อนเล็บ” อยู่ที่วัด ผู้เล่นเป็นผู้ชายในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยสืบทอดต่อการมาภายในชุมชน